<$BlogRSDUrl$>

วันอังคาร, เมษายน 11, 2549

เปิดสัมพันธ์บอร์ดชินคอร์ป "โอฬาร" นั่ง 23 บริษัทเน้นธุรกิจพลังงาน

เผยบอร์ดเครือชินคอร์ปมีประวัติควบตำแหน่งกรรมการบริษัทอื่นอีก 123 แห่ง โดยเฉพาะ "โอฬาร ไชยประวัติ" นั่งเก้าอี้กรรมการธุรกิจพลังงาน-ปิโตรเคมี ด้านไอโอดีระบุจำนวนเหมาะสมไม่ควรเกิน 5 บริษัท หวั่นคำปรึกษาไม่มีประสิทธิภาพ
ประเด็นสำคัญที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อยู่ที่ความทับซ้อนทางผลประโยชน์ของบุคคลที่เป็นกรรมการพิจารณาการแปรรูป โดยเฉพาะกรณีของ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดระบุว่า มีตำแหน่งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยชินวัตร รวมถึงเป็นรองประธานกรรมการ บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น และประธานกรรมการตรวจสอบ บริษัท ปตท.
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา ดร.โอฬาร และนายวิชิต สุรพงษ์ชัย ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์และเป็นหนึ่งในกรรมการบริษัทชินคอร์ป ได้ประกาศลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทการบินไทย เพื่อไม่ต้องการให้มีข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือการเป็นตัวแทน (นอมินี) ให้กลุ่มชินคอร์ป ซึ่งล่าสุด สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยได้ออกมาเรียกร้องให้ทั้งสองคนคืนสิทธิประโยชน์ที่ได้รับไปก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลกรรมการของบริษัทชินคอร์ปทั้ง 9 คน พบว่าเคยมีประวัตินั่งเป็นกรรมการในบริษัทต่างๆ มากถึง 123 แห่ง ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 27 แห่ง โดย ดร.โอฬาร มีประวัติเป็นกรรมการบริษัททั้งในและนอกตลาด 23 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายชาญชัย จารุวัสตร์ นายกสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (ไอโอดี) กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่ได้มีข้อกำหนดว่า การรับตำแหน่งกรรมการบริษัทนั้นเป็นได้มากน้อยเพียงใด เพราะจะต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ซึ่งอาจพิจารณาว่า หากเป็นผู้บริหารที่มีงานประจำอยู่แล้วก็สามารถรับเป็นกรรมการบริษัทอื่นไม่เกิน 2-3 แห่ง แต่ถ้าไม่มีงานประจำหรือเกษียณแล้ว ก็อาจรับได้มากถึง 5-7 แห่ง ส่วนสัดส่วนที่เหมาะสมที่สุดน่าจะอยู่ที่ 5 บริษัทต่อ 1 คน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่สุดไม่ได้อยู่ที่จำนวนบริษัทที่รับเป็นกรรมการ แต่อยู่ที่เรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนและการกำกับดูแลกิจการที่ดี ดังนั้น กรรมการจึงควรมีเวลาในการเข้าร่วมประชุม เพราะหากต้องส่งตัวแทนหรือนอมินีเข้าประชุมแทน จะทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพได้

Comments: แสดงความคิดเห็น

This page is powered by Blogger. Isn't yours?